ตักบาตรเอกาสะนิกังคะ
ประวัติ
วัฒนธรรมดั้งเดิมที่ยังสืบทอดการตักบาตร คือประเพณีอย่างหนึ่งที่ชาวพุทธปฏิบัติกันมาแต่สมัยพุทธ กาล พระภิกษุจะออกบิณฑบาตเพื่อรับอาหารหรือทานอื่นๆ ตามหมู่บ้านในเวลาเช้า ผู้คนที่ออกมาตักบาตรจะนำของทำทานต่างๆ เช่น ข้าว อาหารแห้ง มาถวายพระ ประเพณีนี้ชาวพุทธถือกันว่าเป็นการสร้างกุศล และถือว่าเป็นการแผ่ส่วนกุศลให้กับญาติผู้ล่วงลับ โดยเชื่อกันว่าอาหารที่ถวายไปนั้นจะส่งถึงญาติผู้ล่วงลับด้วยเช่นกัน ประเพณีพิเศษที่เกิดขึ้นในเทศกาลเข้าพรรษาของทุกปี นั่นคือการถือ "เอกาสะนิกังคะ" แปลว่า ฉันมื้อเดียว คือพระสงฆ์องค์หนึ่งองค์ใดปวารณาว่าจะถือเอกาสะนิกังคะ ก็ให้ทำได้ในระหว่างช่วงเข้าพรรษา พระสงฆ์ที่ถือเอกาจะบิณฑบาตแยกจากพระสงฆ์องค์อื่นๆ โดยเดินบิณฑบาตแบบเข้าบ้าน และออกบิณฑบาตในเวลาเช้ากว่าปกติ เดินรับบาตรที่เชิงบันไดทุกบ้าน ทีละบ้าน บ้านใดไม่ออกมาใส่ พระก็จะยืนรออยู่อย่างนั้น จนเจ้าบ้านจะออกมาใส่ (ถ้าบ้านใดไม่ประสงค์จะใส่บาตรพระเอกาสะนิกังคะ ก็ให้คว่ำขันใส่บาตรไว้หน้าบ้าน) เมื่อเจ้าของบ้านใส่บาตรแล้ว ท่านก็จะเดินไปรับบาตรที่บ้านอื่นต่อไป ถ้าชาวบ้านจะตักบาตรพระสงฆ์ปกติด้วย พระเอกาสะนิกังคะด้วย ก็ไม่ว่ากระไร ชาวบ้านที่ตักบาตรกับพระเอกาสะนิกังคะ จะใส่ทั้งข้าวและกับข้าวรวมกันลงในบาตรทั้งหมด ไม่แยกข้าวและกับข้าวเหมือนพระปกติ เมื่อรับบาตรครบถ้วนตามบ้านที่กำหนด ท่านก็จะเดินกลับวัดไม่รับอาหารเพิ่มอีก วันรุ่งขึ้นก็จะมารับบาตรต่อจากบ้านสุดท้ายของเมื่อวันก่อน ต่อเนื่องไปเช่นนี้จนครบ 7-15 วัน ตามศรัทธาของพระ เมื่อถึงวัดพระจะฉันอาหารจากบาตรนั้นโดยไม่ตักแบ่งออกมาข้างนอก ฉันปนกันทั้งอาหารและข้าว ฉันแยกไม่รวมกับพระปกติ และฉันมือเช้ามื้อเดียว
ข้อมูลจาก https://www.tnews.co.th/region/335577
รูปภาพจาก https://www.tnews.co.th/region/335577
Post a Comment