TKP HEADLINE

แหล่งท่องเที่ยวในตำบลหลักหก

 


วัดนาวง ต.หลักหก อ.เมือง จังหวัดปทุมธานี

ประวัติวัดราษฏร์นาวงษ์ (วัดโรงหีบ) "วัดนาวง" ปัจจุบัน

สถานที่ตั้ง เลขที่ 177 หมู่ที่ 1 ตำบลหลักหก อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี

วัดราษฎร์นาวง เดิมชื่อ “วัดโรงหีบ” ทั้งนี้มีประวัติที่มาของชื่อเท่าที่ศึกษาได้ว่าชื่อนี้เรียกตามที่ตั้งของวัด ซึ่งเคยเป็นโรงหีบอ้อย และบริเวณของวัดโดยรอบก็เคยเป็นไร่อ้อยเมื่อกว่าร้อยปีก่อน ต่อมาภายหลังเลิกการปลูกอ้อยมาทำนาแทน ประชาชนจึงเรียก วัดราษฎร์นาวงษ์

เป็น “วัดนาวง” ตามสภาพแวดล้อม ตั้งแต่นั้นมา

กล่าวกันว่าไร่อ้อยในท้องทุ่งหลักหก-ดอนเมืองนั้น ปลูกโดยพระพิสณห์สมบัติบริบูรณ์ ซึ่งเป็นข้าราชการกรมท่าซ้าย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 พระยาพิสณห์ฯ เป็นพ่อค้าเชื้อสายจีน เดินทางขึ้นล่องค้าขายในแถบประเทศใกล้เคียง โดยอาศัยสำเภาขนส่งสิ้นค้าทางทะเล ท่านประสงค์จะปลูกสร้างบ้านพักอาศัยที่ท่านเป็นผู้ออกแบบเองโดยใช้ประสบการณ์ที่ท่านได้เคยเห็นมาระหว่างเดินทางค้าขายไปในที่ต่าง ๆ บ้านที่ท่านต้องการสร้างมีลักษณะเป็นอาคารก่อด้วยอิฐ ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีปูนซิเมนต์ใช้ การก่ออิฐจะเชื่อมประสานด้วยทราย ปูนขาว ผสมน้ำอ้อย ฉะนั้นจะต้องใช้น้ำอ้อยในปริมาณมาก ท่านจึงนำชาวจีนมาทำไร่อ้อยในทุ่งหลักหก-ดอนเมือง และตั้งโรงหีบอ้อยขึ้นมาในทุ่งหลักหก-ดอนเมือง แห่งนี้

พระยาพิสณห์สมบัติบริบูรณ์ (โต) ท่านสนใจทางเกษตรกรรมโดยเฉพาะการปลูกข้าว ท่านได้ว่าจ้างคนจีนจากเมืองจีน โดยใช้เรือสำเภาของท่านเองมาไว้ที่ทุ่งรังสิต ให้ทำงานขุดคลองส่งน้ำทำนา เพื่อทำนาให้ได้สองครั้งตามท่านต้องการ แต่โอกาสไม่อำนวยท่านได้สิ้นชีวิตเสียก่อนงานสำเร็จ

ท่านได้แต่งงานกับคุณหญิงสิน มีธิดาชื่อ คุณปุก ซึ่งต่อมาได้แต่งงานกับท่านเจ้าสัว กิมซัว มีบุตรและธิดาสองคน

คือ คุณนายอุ่น และคุณหลวงนาวาเกนิกร (ซิวเบ๋ง) ต่อมาได้รับพระราชทานนามสกุล “โปษยะจินดา” คุณหลวงนาวาเกนิกร ได้ทำการสมรสกับคุณนายนวม ก่อนพระยาพิสณห์สมบัติบริบูรณ์สิ้นชีวิต ท่านได้ปลูกอ้อยในท้องนาจำนวนมากและส่งเข้าโรงหีบอ้อยนำน้ำอ้อยส่งไปที่ท้องที่ราชวงค์ เพื่อผสมกับทรายและปูนขาว สร้างบ้านราชวงค์ ซึ่งในสมัยนั้นไม่มีปูนซิเมนต์ พื้นที่ที่เป็นโรงหีบอ้อยนี้ปัจจุบันเป็นวัดนาวงค์ (เดิมชื่อวัดโรงหีบ) บริเวณที่ใช้ปลูกอ้อยก็คือพื้นที่ที่บริเวณรอบวัดและบริเวณวัดทั้งหมด

เมื่อสร้างเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงได้ตั้งชื่อวัดที่ตนเองได้สร้างขึ้นนี้ว่า “วัดราษฎร์นาวง” พร้อมทั้งได้ถวายทรัพย์สมบัติทั้งส่วนที่เป็นสังหาริมทรัพย์ที่มีอยู่ในที่นี้ ไว้เป็นสมบัติของวัดทั้งสิ้น โดยเฉพาะที่ดินทั้งหมดมีเนื้อที่รวม 377 ไร่เศษ และได้อาราธนาพระภิกษุสงฆ์ จากสำนักวัดใกล้เคียงมาอยู่จำพรรษาบำเพ็ญสมณกิจตั้งแต่ พ.ศ. 2443 นั้น เป็นต้นมา

แหล่งที่มา : โรงเรียนวัดนาวง [ออนไลน์]. https://watnawong-s.thai.ac/home/info/1/ [วันที่สืบค้นข้อมูล 20 สิงหาคม 2565]

อ่านเพิ่มเติม

Share this:

Post a Comment

ข้อคิดเห็นจากเครือข่าย TKP

 
Copyright © 2018 ศูนย์ข้อมูลความรู้ประชาชนจังหวัดปทุมธานี. Designed by OddThemes > Developed by mediathailand